ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน

๑. ระวัติความเป็นมา
          อำเภอสามชุกตามหลักฐานเดิมมีชื่อว่า “อำเภอนางบวช” เพราะระยะแรกเริ่มนั้นได้ตั้งที่ว่าการอำเภอในท้องที่ตำบลนางบวช  จังหวัดสุพรรณบุรี  และได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๗  โดยมีขุนพรมสุภา (บุญรอด)  เป็นนายอำเภอ สมัยนั้นใช้บ้านพักนายอำเภอเป็นสถานที่ราชการ ต่อมาเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๔๐ หมื่นยกพลพ่ายเป็นนายอำเภอ  ได้ก่อสร้างที่ว่าการอำเภอขึ้น ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๗ กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยกฐานะอำเภอทางฝ่ายเหนือของจังหวัดสุพรรณบุรี ในบริเวณหมู่บ้านเขาพระ  ตั้งชื่อว่า“อำเภอเดิมบาง”หลวงประจันต์ราษฎร์ (ใหม่ บุญยบุตร)  เป็นนายอำเภอนางบวชสมัยนั้น จึงย้ายที่ว่าการอำเภอนางบวชมาตั้งอยู่บริเวณหมู่บ้านสามเพ็ง ตำบลสามชุก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่ออำเภอใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อตำบล จึงมีการเปลี่ยนชื่อจากอำเภอเดิมบาง เป็น “อำเภอสามชุก” มาจนถึงปัจจุบันนี้และมีนายอำเภอเปลี่ยนแปลงและโยกย้ายมาแล้ว รวม ๕๑ คน ปัจจุบันมี นายวิสูตร กรมพิศาล ปลัดอำเภออาวุโส รักษาราชการแทนนายอำเภอ
          อำเภอสามชุกในสมัยที่การคมนาคมไม่สะดวกเหมือนปัจจุบัน การเดินทางติดต่อกันต้องอาศัยการสัญจรทางน้ำเป็นหลัก แม่น้ำสำคัญที่เป็นทางสัญจรก็คือ แม่น้ำท่าจีน  สำหรับทางบกต้องใช้เกวียนเป็นพาหนะบรรทุกของเป็นส่วนใหญ่  สมัยนั้นบ้านสามชุกอยู่ในทำเลที่เหมาะเป็นศูนย์กลางการติดต่อของจังหวัดทางทิศเหนือ ผู้ที่เดินทางจากตัวเมืองไปยังอำเภออื่น ๆ ที่ห่างออกไป  ต้องหยุดพักที่สามชุกเพราะได้เวลาค่ำพอดี  นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ที่พวกกะเหรี่ยงนำของจากป่าบรรทุกเกวียนมาขายและแลกเปลี่ยนกับพ่อค้าทางเรือ และซื้อของที่จำเป็นกลับไปด้วย
          พระสุนทรโวหาร(สุนทรภู่)  ได้เคยมาจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๔ ได้เขียนคำประพันธ์ไว้ในนิราศเมืองสุพรรณเกี่ยวกับบ้านสามชุกว่า
                                      ถึงนามสามชุกท่า            ป่าดง
                                 กะเหรี่ยงไร่ได้ฝ้ายลง            แลกล้ำ
                                 เรือค้าท่านั้นคง                     คอยกะเหรี่ยง   เรียงเอย
                                 รายจอดทอดท่าน้ำ               นับฝ้ายขายของ
          ตามที่สุนทรภู่ได้มาถึงท่าน้ำบ้านสามชุกซึ่งเป็นท่าจอดเรือสำหรับซื้อของป่าและฝ้าย เป็นท่าน้ำขนส่งสินค้าขนาดใหญ่เกวียนลงได้สะดวก แต่ก่อนเรียกว่า “ท่ายาง” ที่ปากท่าน้ำมีหาดทรายตื้นมาก ในฤดูแล้งเรือสัญจรไปมาไม่ได้จึงใช้เป็นที่ขนถ่ายสินค้า
 
๒. อาณาเขต
          ทิศเหนือ            ติดต่อกับ       อำเภอเดิมบางนางบวช
          ทิศใต้                ติดต่อกับ       อำเภอศรีประจันต์และอำเภอดอนเจดีย์
          ทิศตะวันออก      ติดต่อกับ       อำเภอแสวงหา  จังหวัดอ่างทอง
          ทิศตะวันตก        ติดต่อกับ       อำเภอหนองหญ้าไซ      
 
ภาพที่ ๑ แผนที่อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี
UploadImage๓. ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไป
          พื้นที่ด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือเป็นที่ราบลุ่ม ทิศตะวันตกและทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นที่ราบและที่ดอนเป็นบางส่วน  มีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่านในตอนกลางของอำเภอ ไม่มีพื้นที่เป็นภูเขา
 
๔. สภาพภูมิอากาศ
          อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมเขตร้อน มี ๓ ฤดู ในฤดูฝนมีฝนตกชุกมากบางปีประสบปัญหาอุทกภัย ในฤดูหนาวอากาศไม่หนาวมากจนเกินไป และในฤดูร้อนอากาศร้อนอบอ้าว บางหมู่บ้านขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค
 
๕. ศาสนา
ประชาชนส่วนใหญ่นับถือ ศาสนาพุทธ ประมาณร้อยละ ๙๙.๙๐ รองลงมา ได้แก่ ศาสนาคริสต์ ประมาณร้อยละ ๐.๐๙ และศาสนาอื่น ๆ อีกประมาณร้อยละ ๐.๐๑ โดยมีศาสนสถาน จำนวน ๓๗ แห่งประกอบด้วยวัดพุทธ จำนวน ๓๖ วัด และโบสถ์คริสต์ จำนวน ๑ แห่ง
 
๖. ลักษณะทางสังคมและความเป็นอยู่
          สภาพสังคมและความเป็นอยู่ของประชากรอำเภอสามชุก  ส่วนใหญ่ถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในอำเภอสามชุกจึงมีลักษณะรักพวกพ้องรักหมู่คณะ และมีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน และกับผู้ที่มาเยี่ยมเยียน ยึดมั่นและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม
 
๗. การประกอบอาชีพ
ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา, ทำไร่และเลี้ยงสัตว์ รองลงมาได้แก่ อาชีพรับจ้างและค้าขาย พอสรุปได้ดังนี้ 
               อาชีพทำนา                                      ร้อยละ   ๘๐                      
               อาชีพปลูกพืชไร่                               ร้อยละ   ๑๗
               อาชีพอื่น ๆ (รับจ้าง,ค้าขาย,ฯลฯ)       ร้อยละ   ๓
 
๘. รายได้
ประชากรมีรายได้โดยเฉลี่ย ประมาณ ๔๖,๙๔๐ บาท ต่อคนต่อปี
(ที่มา : http://www.suphanburi.go.th)
 
๙. สถานประกอบการ
                   -  โรงสีข้าว                                                 ๘        แห่ง
                   -  โรงน้ำแข็ง                                               ๒        แห่ง
                   -  โรงงานน้ำตาล                                         ๑        แห่ง
                   -  โรงงานผลิตอาหารกระป๋อง /สำเร็จรูป    ๓        แห่ง
                   -  สถานที่ผลิตน้ำดื่ม                                    ๕        แห่ง
                   -  โรงฆ่าสัตว์                                               ๕        แห่ง
 
๑๐. การคมนาคม

อำเภอสามชุก  เป็นศูนย์กลางและทางผ่านของการคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำ

    ๑๐.๑ ทางบก  มีเส้นทางตัดผ่านจังหวัดสุพรรณบุรีไปยังจังหวัดและอำเภอใกล้เคียง ได้แก่ อำเภอหนองหญ้าไซ อำเภอดอนเจดีย์ อำเภอด่านช้าง อำเภอเดิมบางนางบวช อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดสิงห์บุรี เป็นต้น ทั้งยังมีสายเดินรถจากอำเภอสามชุกถึงกรุงเทพฯ ทั้งรถโดยสารธรรมดา และรถปรับอากาศเส้นทางไปกรุงเทพฯ ระยะทางใกล้ที่สุด ๑๓๒  กิโลเมตร
    ๑๐.๒ ทางน้ำ มีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน มีการเดินเรือสินค้าไปยังจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดใกล้เคียงแต่ไม่มากนัก
  
๑๑. สถานที่สำคัญ - พักผ่อนหย่อนใจ
                   ๑. วัดดอนไร่ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลหนองสะเดา ในอดีตมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังเป็นเจ้าอาวาส คือ พระครูสุวรรณวุฒาจารย์ (หลวงพ่อมุ่ย) ปัจจุบันมรณภาพแล้ว         แต่ยังเก็บร่างของท่านประดิษฐานไว้ในมณฑป เพื่อเป็นที่สักการะบูชาแก่ประชาชนทั่วไป
                   ๒. วัดทุ่งสามัคคีธรรม ตั้งอยู่หมู่ที่ ๕ ตำบลหนองผักนาก วัดนี้เป็นที่รู้จักแก่บุคคลทั่วไปในด้านการปฏิบัติธรรม การนั่งวิปัสสนากรรมฐานและวัตถุมงคล โดยหลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก บริเวณวัดมีสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ มากมาย
                   ๓. วัดลาดสิงห์  ตั้งอยู่หมู่ที่ ๕ ตำบลบ้านสระ วัดนี้เป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป เนื่องจากมีเรื่องราวที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ กล่าวคือ มีผู้รู้ได้สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สร้างสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระประธานในอุโบสถชาวบ้านจึงเรียกว่า “หลวงพ่อดำ” ซึ่งเป็นพระนามเดิมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วัดนี้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ แวะมานมัสการ “หลวงพ่อดำ” และเยี่ยมชมทุกวัน นอกจาก “หลวงพ่อดำ” แล้ว ยังมีรูปปั้นเท่าพระองค์จริงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  สมเด็จพระสุพรรณกัลยา และสมเด็จพระเอกาทศรถ ประดิษฐานอยู่ในบริเวณวัดด้วย 
                   ๔. บึงระหาร ตั้งอยู่หมู่ที่ ๒ ตำบลสามชุก เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติมีพื้นที่ประมาณ ๑๗๕ ไร่เศษ ได้มีการปรับปรุงสภาพของบึงให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจ รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรกรรมและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาตามธรรมชาติ
                   ๕. ตลาดร้อยปี ตั้งอยู่หมู่ที่ ๒ ตำบลสามชุก เป็นตลาดเก่าซึ่งได้รับดูแลให้คงสภาพเดิม เพื่อให้เห็นวิถีชีวิตในอดีตที่รุ่งเรือง มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ  คือ  พิพิธภัณฑ์บ้านท่านขุนจำนง จีนารักษ์ และได้รับรางวัลอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประจำปี ๒๕๕๒  จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๒
 
๑๒. เขตการปกครอง
อำเภอสามชุก มีพื้นที่ ๓๕๕.๙๑๗ ตารางกิโลเมตร และแบ่งการบริหารราชการออกเป็น ๒ ส่วน ดังนี้
     ๑. การบริหารราชการส่วนภูมิภาค แบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๗ ตำบล  ๖๘  หมู่บ้าน
     ๒. การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย เทศบาลตำบล จำนวน ๑ แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน ๖ แห่ง